วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บุญ บารมี

บุญ บารมี

บุญ คือความดี กุศล ความสุขอันเกิดจากการประพฤติทางกาย วาจา ใจ กุศลธรรม
บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงส่ง
วิธีสร้างบุญ บารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ
1 การทำทาน ได้แก่การเกิดความเมตตาจิตของตนด้วยการสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่นเพื่อหวังให้ผู้รับประโยชน์มีความสุขจะมากหรือน้อยเพียงใดย่อมถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบ 3 ประการที่ทำให้ทานนั้นมีผลมาก ได้บุญบารมีมากกล่าวคือวัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาในการให้บริสุทธิ์ เนื้อนาบุญบริสุทธิ์

2 การรักษาศีล ศีลแปลว่า ปกติคือสิ่งที่บุคคลจะต้องระวังรักษาศีลมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10และศีล 227
มนุษย์ คือ ผู้ที่มีใจประเสริฐ มีคุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่ทรงไว้ตลอดไปคือ ศีล5 บุคคลที่ไม่มีศีล5 ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจเรียกว่า คน
การรักษาศีล เป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกาย วาจาซึ่งเป็น กิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้นและเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน
3 การภาวนา การเจริญภาวนา เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงสุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาเป็นแก่นแท้ และสูงกว่าศีลมาก
อานิสงส์ ของสมาธินั้นมีมากว่าการรักษาศีลอย่างเทียบไม่ได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า แม้บุญจะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล 227ข้อไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง 100ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิจิตเพียงให้จิตสงบนานเพียงไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู
การให้ธรรมะเป็นทาน เป็นบุญกุศลอันสูงสุด

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กำลังใจกับการเริ่มต้นใหม่

กำลังใจเป็นคำพูดหรือเป็นสื่อในความหมายที่กระตุ้นความรู้สึกให้ดีขึ้น ผ่อนคลายขึ้น มีความหวังมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆที่กำลังเข้ามาหา หรือบางสิ่งที่เคยผ่านออกไปแล้วแต่ยังไม่เคยลืมคืออดีต
กำลังใจคือพลังแห่งความตั้งใจดีที่จะก้าวต่อไปโดยเริ่มต้นใหม่ให้ไปสู่ชัยชนะ หรือความสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ให้ได้
ศัตรูตัวร้ายที่จะบั่นทอนความตั้งใจเราคือความคิดของเราเอง จงอย่าดูถูกตนเอง หรือมองว่าตนเองไม่มีคุณค่า ขอเพียงให้ตัวเรามีความหวังที่จะเริ่มต้นใหม่โดยจิตใจที่เข้มแข็ง อย่าอ่อนแอ จงนำบทเรียนที่ผ่านมาเป็นครูของชีวิตเพื่อที่พาเราก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความระมัดระวัง
ดังตัวอย่างที่ดิฉันจะขอยกมากล่าวให้ฟังว่าเคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงบทความเกี่ยวกับนักโทษหญิงที่เปลี่ยงแปลงความคิดของตนใหม่ในเชิงบวกที่สร้างชีวิตใหม่ให้กับตนเองโดยไม่คิดทำร้ายตนเองแต่กลับนำพาชีวิต ความคิดที่ดีโดยการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะในวิชามวย จนได้รับชื่อเสียงในทางที่ดีน่ายกย่อง ที่น่าจะเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนที่มีความคิดแบบเดิมๆ และก็กลับมาแบบเดิมๆ ลองดูนะ ชีวิตและอนาคตเป็นของเรา จงรู้จักที่จะนำพาตนเองให้ไปพบความสุข ความสมหวังและความสำเร็จนั้นๆให้ได้จงเปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่ ไม่จมอยู่แต่อดีต ไม่มัวแต่นอนเศร้าทุกข์ใจ มองแต่ปมด้อยของตนเอง
ขอให้จดจำนะว่าชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอนับตั้งแต่รู้ความ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ของเพียงให้เรามีกำลังใจ และพร้อมที่จะลูกขึ้นสู้เพื่อวันใหม่ ในวันพรุ่งนี้ ชีวิตที่เคยเลวร้ายก็จะกลายเป็นดี
ขอให้ชีวิตที่เริ่มต้นจงเป็นแก้วที่หงายเพื่อรองรับและกลั่นกรองเอาแต่สิ่งที่ดีๆเข้ามา
แต่อย่าเป็นแก้วที่คว่ำเพราะมัวแต่กักเก็บอดีตไว้ไม่ยอมปล่อยให้ออกไปก็เหมือนคนที่วนเวียนอยู่แต่วงแคบๆที่หาทางออกไม่ได้ และจะไม่มีวันที่ได้รับรู้ว่าในโลกใบนี้ยังมีสิ่งที่ดีๆอีกหลายอย่างที่เราควรจะรับรู้ อย่าปล่อยให้โอกาสและเวลาให้มันสูญไปโดยที่ไม่มีการเริ่มต้นใหม่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มองให้เห็นเป็นปัจจุบัน

ความคิดที่ชอบคิดไปเรื่อยๆ บางครั้งสิ่งที่คิดก็ยังไม่เกิดขึ้นหรือบางสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าสุข หรือ ทุกข์ ก็มักจะพอใจที่จะยึดติดอยู่แต่ในความคิดนั้น โดยไม่แยกแยะออกให้เป็น คิดแต่อดีตหรือคิดไปถึงผลในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นจริง หรือไม่จริงก็ได้ จึงทำให้เป็นคนหวาดระแวง วิตกกังวล ขาดความมั่นใจในตนเองแม้แต่ความคิด
การที่ไม่รู้เท่าทันความคิด มักทำให้คนเราขาดสติ ขาดปัญญา ในการแก้ปัญหา
สติ ก่อให้เกิดปัญญา
ปัญญา ก่อให้เกิดความรู้
สติ คือความระลึกได้ในความจริง ความถูกต้อง
ปัญญา คือการรู้เท่าทันในความคิดอันเกิดจากการกระทำด้วยกาย วาจา ใจ
การฝึกตนเองให้มีสติโดยฝึกให้อยู้กับปัจจุบัน ว่าเรากำลังจะทำอะไร คิดอะไร มองให้รู้เท่าทันในความคิดมองให้เห็นเป็นธรรมชาติ ว่ามีการเกิด ก็ต้องมีการดับเป็นของธรรมดา ฝึกตามดูจิตว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ให้รู้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง พูด คิดถ้าหากสติเราเผลอก็สามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
คนเราต้องมีจุดมุ่งหมายในชีวิต หากเกิดมีความทุกข์ขึ้นมาจิตเราจะไม่เลื่อนลอยไปอย่างไร้จุดหมาย
แต่หากไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตเมื่อทุกข์ขึ้นมาจะอยู่แต่ในอดีต และไปไกลถึงอนาคตอย่างไม่มีจุดหมายที่แน่นอนเพราะลืมคิดถึงปัจจุบัน
อดีตคือ ครูของชีวิต ปัจจุบันจงทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีเพื่อไปสู่อนาคตอย่างมีจุดมุ่งหมายและความสุขก็จะเกิดขึ้นในใจของเรา

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

วันแม่

ใกล้ถึงวันสำคัญอีกแล้วนะสำหรับคำว่าวันแม่ ความจริงแล้วถึงไม่ต้องมีวันนี้ แม่ก็รักลูกอยู่ทุกๆวันตราบเท่าลมหายใจของแม่ยังมีอยู่ แม่รักลูกของแม่ทุกคนและแม่ก็มีความสุขมากที่เห็นลูกๆของแม่ทุกคนเติบโตเป็นคนดี เป็นลูกที่ดีของแม่เสมอมา
ลูกคงรู้นะสังคมในปัจจุบันนี้มีเรื่องต่างๆมากมายทั้งที่ดีและไม่ดี ที่เกิดจากการกระทำด้วย กาย วาจาและใจ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมตกต่ำลง นั่นคือผลที่เกิดจากภายนอกมากระทบภายในคือจิตใจของเรา จึงทำให้บางครั้งบุคคลในสังคมจึงขาดคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม ขาดความรัก ความเมตตา ต่อสังคม จึงทำให้เป็นเหตุไม่มีความสุขเพราะจิตใจที่เร่าร้อน กระวน กระวาย
แม่อยากจะให้ลูกรู้ว่าการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และรู้จักควบคุมอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยดูอารมณ์ตัวเองอย่างนิ่งๆและติดตามอารมณ์อย่างมีสติ และรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง จิตใจก็จะผ่อนคลายเยือกเย็นขึ้น มองเห็นเหตุและผลมากขึ้น รู้สึกเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ลูกต้องหัดรักผู้อื่นก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาให้อะไรเรา ตัวเราต้องรู้จักเป็นผู้ให้ก่อน
แม่อยากบอกว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจ การมีสติ รับรู้เท่าทัน และการควบคุมตนเองได้ก็จะนำพาให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

อุทิศส่วนกุศลกับการกรวดน้ำต่างกันอย่างไร

คำว่า อุทิศส่วนกุศล หมายความว่า ผู้จะอุทิศส่วนกุศลนั้นจะต้องทำบุญทำกุศลให้เกิดขึ้นก่อน เมื่อกุศลเกิดขึ้นแล้วจึงอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การอุทิศส่วนกุศลนี้เป็นบุญของผู้กระทำอย่างหนึ่งในบุญกริยาวัตถุ10 ประการ นั่นคือปัตติทานมัย ได้แก่บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หรือบุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศล
สำหรับผู้ล่วงลับไปแล้ว ถ้าอยู่ในฐานะที่รับส่วนบุญได้เมื่อมีผู้อุทิศส่วนกุศลมาให้ ก็จะยินดีปลาบปลื้มใจพร้อมกับกล่าวคำ อนุโมทนาสาธุ ก็จะได้รับผลบุญที่เขาอุทิศมาให้ และเกิดผลบุญที่ได้รับอนุโมทนา
จะเห็นได้ว่า การอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งของผู้กระทำ และการอนุโมทนาส่วนกุศล ก็เป็นบุญอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้รับ
ส่วนคำว่า กรวดน้ำ หมายถึง กริยาที่แสดงถึงการนำเอาน้ำมาเทหรือหยดลงในภาชนะที่รองรับ ในขณะที่พระกล่าวคำให้พรว่า ยถาวารีวหา เป็นต้น พร้อมกับกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนน้ำที่เรานำมาหยดหรือเทลงในภาชนะนั้น เป็นการช่วยทำให้สมาธิของผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลนั้นดีขี้น ช่วยทำให้จิตใจมั่นคงอยู่ที่น้ำกับภาชนะเท่านั้นเอง
การกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศล จะใช้น้ำก็ได้ไม่ใช้น้ำก็ได้ เพียงทำบุญให้เกิดแก่ตนเองเสียก่อน เมื่อบุญเกิดกับตนเองตามที่ได้กระทำแล้ว เมื่อจะอุทิศส่วนกุศลก็ขอให้ตั่งใจมุ่งตรงต่อผู้ที่เราจะอุทิศส่วนกุศลให้บุญก็สำเร็จแก่เราเพิ่มขึ้น ผู้ล่วงลับไปแล้วถ้าเขาได้อนุโมทนา เขาก็ได้รับผลบุญจาการอนุโมทนา สาธุ